นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2560 ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center หรือ RISC)
โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ค้นคว้า และพัฒนานวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต จนเกิดนวัตกรรมที่หลากหลายสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีของผู้คนอย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นต้นไป RISC เตรียมจัด 3 กิจกรรมเพื่อยกระดับบทบาทของศูนย์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้เกิดการต่อยอดอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมการนำความรู้เชิงลึกไปประยุกต์ใช้จริง
“รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เตรียมจัด 3 กิจกรรม เพื่อขยายแนวร่วมในการสร้าง well-being นำไปสู่ความยั่งยืน สร้างกระแสและกระตุ้นการต่อยอดความรู้ในเชิงวิชาการไปใช้อย่างกว้างขวาง
โดยเน้นเจาะกลุ่มสถาปนิก วิศวกร นักพัฒนาโครงการ นักวิชาการ องค์กร/บริษัท นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ และต้องการต่อยอดความรู้ไปในหลากหลายด้าน เพื่อมุ่งเน้นความหลากหลายของกิจกรรมให้ครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่
หนึ่ง การเปิดตัวหนังสือ “Sustainnovation” รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย คำนิยามของความยั่งยืน (sustainability) นวัตกรรม (innovation) และตัวอย่างเกณฑ์ชี้วัดความยั่งยืนทั่วโลก พร้อมบทสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสายอาชีพ
ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และนักวิชาการ มาให้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับคำนิยามดังกล่าว และตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงแนวทางปฏิบัติในการเป็นต้นแบบเพื่อความยั่งยืนให้กับสังคมไทยโดยกว้าง นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่น่าสนใจทั่วโลกที่มาช่วยตอบ pain point ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ในรูปแบบที่หลากหลายอย่างที่คาดไม่ถึง
“คำว่า sustainnovation หรือนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เป็นเรื่องอธิบายยาก ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าโลกนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีปัญหาใหม่ ๆ ถี่ขึ้น ฉะนั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ อาจไม่รอด ต้องปรับวิธีการใหม่ มีการนำเอานวัตกรรมใหม่มาใช้ เช่น การแก้ปัญหา PM2.5 เมื่อวิธีการเดิมแก้ไม่ได้ จึงเกิดนวัตกรรมที่เรียกว่าฟ้าใส (Fahsai) ขึ้นมา เป็นเครื่องฟอกอากาศเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศ
เรามีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนสามารถเพิ่มการจัดการกับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ จนตอนนี้พัฒนาต่อยอดเกิดเป็น ฟ้าใส มินิ ที่มีขนาดเล็กลง เข้าถึงพื้นที่แออัดในเมืองได้ ซึ่งเราตั้งใจพัฒนาใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ และได้ทดลองและพัฒนามีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหามลพิษ นวัตกรรมในรูปแบบนี้สามารถต่อยอดสู่เชิงธุรกิจได้”
อ่านข่าวเพิ่มเติม : แปะไว้ข้างฝา 10 พยากรณ์เหตุการณ์คริปโตที่จะเกิดขึ้นในปี 66